วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อม
โดย บ้านเมืองออนไลน์ เมื่อเวลา 9:03:00 วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2550 คอลัมน์ : บ้านเมืองเรื่องวันจันทร์ : ปัญหาสิ่งแวดล้อม ใครรับผิดชอบ 
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                                 ถามว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันใครเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าจะตอบว่า ต้องช่วยกัน ต้องร่วมมือกัน ก็ฟังดูดี แต่อาจเป็นข้อสรุปที่ง่ายเกินไป และอาจจะไม่มีใครปฏิบัติและรับผิดชอบ ถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้น ควรเป็นใครเป็นผู้รับผิดชอบ 
                                ในความเห็นของกระผมขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
                                    กลุ่มแรก รัฐบาล เป็นกลุ่มที่มีอำนาจหน้าที่ กำกับ ดูแล โดยออกกฎหมายมาเพื่อใช้บังคับ ให้คนในประเทศปฏิบัติ อีกทั้งยังมีกลไก บุคลากร ข้าราชการ งบประมาณ เครื่องมือ ฯลฯ ในการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม 
                               กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มธุรกิจ เป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์ จากการผลิตสินค้า บริการ โดยใช้ทรัพยากรต่างๆ ของประเทศ เพื่อทำการผลิตสินค้า และบริการ เพื่อจำหน่ายทั้งภายในและส่งออกต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โดยเฉพาะในกระบวนการผลิต ที่ก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เช่น น้ำเสีย บางโรงงานปล่อยน้ำเสีย ของเสียทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง ลำน้ำสาธารณะ โดยไม่มีการบำบัด อากาศเสีย บางโรงงานปล่อยควันพิษ ฝุ่นละอองที่เป็นพิษออกจากโรงงานโดยไม่มีการกรองอากาศ ฯลฯ 
                          กลุ่มที่สาม คือ ประชาชน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่สุด เป็นกลุ่มที่มีสถานะทั้งการผลิตและบริโภค ในฐานะผู้ผลิตคือ ผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม ทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมา เช่น ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ น้ำถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีซึ่งมาจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลง อีกทั้งคนในกลุ่มนี้เป็นทั้งผู้บริโภค คือ ใช้สินค้าและบริการ ที่ฝ่ายธุรกิจผลิตออกมา ซึ่งสินค้าบางตัวอาจส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยต่างกัน ตัวอย่าง การใช้สินค้าที่ อุปโภค บริโภค โดยทิ้งสารตกค้าง หรือ ย่อยสลาย ไม่ได้ก่อให้เกิดขยะ หรือสิ่งที่พิษตามมามากมาย ซึ่งทั้งสามกลุ่ม ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ รัฐ เก็บภาษีได้แล้ว ก็โยนความผิดให้กลุ่มธุรกิจและกลุ่มของประชาชน โดยอ้างว่า เพราะ ขยะ น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ มาจากโรงงาน 
                            ถ้าจะโยนความผิดอย่างนี้ ก็คงยากที่จะแก้ไขได้ การที่จะร่วมมือกันของทั้งสามกลุ่มได้ต้องอาศัยความเข้าใจในปัญหา การศึกษา การเก็บข้อมูล รวมถึงต้องสร้างจิตสำนึก ความรับผิดชอบ ดังกรณี การใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร การใช้น้ำมันที่มีค่าออกเทนสูง จะทำให้สารตะกั่วออกจากท่อไอเสีย และตกค้างอยู่ที่ถนน เมื่อสูดเข้าไปจะมีผลกระทบกับระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบสมอง ถ้ารับไปมากๆ ก็จะทำให้ความจำเสื่อม ดังนั้น รัฐบาลจึงเริ่มรณรงค์ให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว 
                            ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2534 โดยได้รับความร่วมมือ จากกลุ่มธุรกิจและกลุ่มประชาชน ทำให้สารตะกั่วในอากาศและตามท้องถนนลดน้อยลง สิ่งที่ควรทำหรือควรปฏิบัติสำหรับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หลักใครทำ ใครทิ้ง ผู้นั้นจ่าย การผลิต ตามกระบวนการต่างๆ กลุ่มธุรกิจและกลุ่มประชาชน อาจก่อให้เกิด น้ำเสีย อากาศ เป็นพิษ ผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบการกระทำ โดยอาจเสียค่าระบบป้องกันต่างๆ หรือ ถ้ามีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ต้องจ่ายค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ควรกระจายความรับผิดชอบ ในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยกระจายจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น จนลงไปถึงประชาชน โดยสร้างจิตสำนึก สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
                       ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ทุกประเทศทั่วโลก ล้วนมีปัญหาเช่นกัน ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัญหาของชาติที่ทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กระผมเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีพลัง ถ้าต้องการแก้ไขอย่างแท้จริงและจริงจัง กระผมเชื่อว่า เราจะสามารถป้องกัน รักษา รวมถึงฟื้นฟูคุณภาพของสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ดีขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ทั้งสามกลุ่มคือ รัฐบาล กลุ่มธุรกิจ และประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น