วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

เหล้ากับเทศกาลสงกรานต์

งดขายเหล้าเทศกาลสงกรานต์
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
            การออกมาเคลื่อนไหวเรื่องของการงดขายเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์  นับว่าเป็นประเด็นที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
                เช่นเครือข่ายประชาคมงดเหล้าน่าน สนับสนุนห้ามขายเหล้าสงกรานต์และงานบุญ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา 
                สำหรับ สถานการณ์ในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องการดื่มเหล้า สุรา แอลกอฮอล์ ในปัจจุบัน ได้ลงไปถึงเด็กและเยาวชนจำนวนมาก และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเช่นเดียวกัน จากข้อมูล เทศกาลสงกรานต์ ภาพรวมสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551 (วันที่ 11-17 เมษายน 2551 รวม 7 วัน)  ดังนี้  1) จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ มีจำนวน 4,243 ครั้ง 2) จำนวนผู้เสียชีวิต มีจำนวน 368 คน 3) จำนวนผู้บาดเจ็บ (Admit) มีจำนวน 4,803 คน  
                ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุรา เหล้า แอลกอฮอล์ และรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ รถมอเตอร์ไซค์  สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ  เชียงใหม่  นครราชสีมา
                ความจริง การห้ามขายเหล้าเรามีกฎหมายใช้ คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551
            ตาม มาตรา26 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ดังต่อไปนี้ (1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, (2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา, (3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร, (4) สโมสรเยาวชน, (5) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก (6) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ, (7) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณนั้นๆ, (8) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม
                 มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกวัน หรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม                  มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือบุคคลที่อาการมึนเมาจนประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้
                แต่ ก็ยังมีการแอบขายกันอยู่ สำหรับบางสถานที่ดังกล่าว หรือ นักดื่มก็อาจเลี่ยงไปซื้อตามร้านสะดวกซื้อแทน หมายถึง การย้ายไปซื้อในสถานที่ที่ควบคุมไม่ได้แทน เช่น ใกล้สถานศึกษา ใกล้หอพัก ใกล้สถานที่ราชการ ใกล้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ
            ความ จริงการดื่มเหล้า สุรา แอลกอฮอล์ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากกว่า 60 โรค และยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
                แต่ก็คงยากที่จะห้ามกันได้ ถ้าคนซื้อยังอยากซื้อ และ คนขายยังอยากที่จะขาย  สำหรับโครงการการงดขายเหล้าเทศกาลสงกรานต์ โดยส่วนตัวกระผมคิดว่า เป็นโครงการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติ คงยากที่จะห้ามได้
                ดังนั้น กระผมเชื่อว่า คนซื้อคงต้องซื้อกันต่อไป คนขายก็ขายกันต่อไป แต่จะทำให้อย่างไรให้ซื้อลดน้อยลง หรือ ทำอย่างไรให้ดื่มกันลดน้อยลงจะดีกว่า
                เพราะ กฎหมายเป็นกฎหมายห้ามขาย ไม่ใช่กฎหมายห้ามดื่ม อย่างไรเสียจะห้ามขาย อย่างไร นักดื่มก็ขวนขวายพยายามหาดื่มจนได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น