วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

คอร์รัปชั่นภัยร้ายสังคมไทย

คอร์รัปชั่นภัยร้ายสังคมไทย
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
             ก็ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการประชุม ป.ป.ช.โลกครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2553 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในการจัดงานครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ คืนความเชื่อมั่น : ทั่วโลกโปร่งใส สู้ภัยทุจริต ” 
                  โดยในวันแรกมี นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.และประธานสภาหอการค้า ลงนามแถลงการณ์ร่วมในการดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการจัดซื้อ จัดจ้างในภาครัฐ ต่อหน้าผู้มาประชุมเกือบ 1,000 คน อันได้แก่ 
                      ผู้นำโลก นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวของกลุ่มพัฒนาองค์กรจาก 113 ประเทศ ความจริงถ้าพูดถึงเรื่องของการคอร์รัปชั่นในเมืองไทยนั้น มีมาช้านานแล้ว จนกระทั้งบางหน่วยงาน บางองค์กรและคนของหน่วยงาน รวมทั้งประชาชนบางส่วน ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเลยก็มี 
                       จนมีคนกล่าวว่าประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่ทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดในภูมิภาคและในโลก ดังผลสำรวจความคิดเห็นของ สำนักวิจัยเอแบคโพล เมื่อเดือนตุลาคม พบตัวเลขที่น่าตกใจว่าคนไทยเห็นว่ารัฐบาล “ โกงก็ไม่เป็นไร ” มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 63.2 เมื่อปี 2551 เพิ่มเป็นร้อยละ 76.1 ในปีนี้ 
                     ความจริงการทุจริตในเมืองไทยเกิดขึ้นจากคนสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ การทุจริตที่เห็นได้ชัดเจนเพราะมีผลประโยชน์มาก ส่วนใหญ่เป็นการโกงจากการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น ตึก อาคาร ถนน ฯลฯ 
                        ปีๆหนึ่งประชาชนผู้ที่ต้องเสียภาษี ต้องถูกโกงจากบุคคลสามฝ่ายไปปีละประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐบางแห่งมีการทุจริตได้เปอร์เซ็นต์ จากการจัดซื้อจัดจ้าง ตามที่พวกเราคงได้เห็นกันตามสื่อต่างๆ 
                        ถามว่าถ้าหากพวกเราสามารถแก้ไขปัญหาเงินที่ถูกโกงไปได้ เราก็สามารถใช้เงินเหล่านี้ไปพัฒนาประเทศชาติได้มากยิ่งขึ้น เช่น เราสามารถสร้าง โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เราสามารถจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น เราสามารถสร้างโรงเรียน หรือให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนของเราได้อีกมากมาย ถามว่าเราสามารถจะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศได้ไหม ในความคิดเห็นของกระผมแก้ได้ ถ้าหาก รัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศเอาจริงเอาจังในเรื่องดังกล่าว 
                           อีกทั้งบทลงโทษทางกฎหมายต้องมีความรุนแรง และมีผลบังคับกันอย่างจริงจัง อีกทั้งรัฐบาลต้องสร้างจิตสำนึกแก่ ข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมือง ไปพร้อมๆกัน แต่หากดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว รัฐบาลชุดนี้ ยังมีข่าวเรื่องของคอร์รัปชั่นตามสื่อต่างๆ อีกทั้งมีบุคคลหลายฝ่ายออกมาพูดถึงเรื่องของการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลกันอยู่ 
                                ซึ่งตามความเป็นจริงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่นก็คือ คนที่มีอำนาจในบ้านเมืองนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในตำแหน่งสำคัญทางการเมือง นักธุรกิจระดับประเทศที่มักจะมีข่าวเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ จากนโยบายของภาครัฐ ข้าราชการหรือนักบริหารในภาครัฐ ที่คุมค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ
                         ผมเองได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ เจอเด็กหญิงดวงดี แซ่ลี้ หรือ น้องหนิง ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า “หนูเริ่มทำความดีจากการให้เพื่อนยืมของ เช่น ดินสอ ยางลบ ไม่พูดโกหกและยังช่วยเก็บขยะที่มีคนทิ้งเรี่ยราดในบริเวณโรงเรียน สิ่งที่คุณครูสอนและความรู้ที่ได้ทำกิจกรรมทำให้เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ได้
                        มีครั้งหนึ่งคุณครูเคยทดสอบพวกหนูด้วยการทำกระเป๋าเงินหล่นหาย แล้วหนูก็เก็บไปคืนและประกาศหาเจ้าของจนเจอ ทำให้ได้รับคำชมและรู้สึกดีใจที่ได้ทำความดี ” จากข้อความข้างต้น ที่เด็กหญิงดวงดี แซ่ลี้หรือน้องหนิง ได้กล่าว ผมรู้สึกอายแทนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางคนได้ร่วมมือกันเพื่อโกงกินเงินของภาค รัฐ ถามว่าจิตสำนึกของตนอยู่ไหน หากเปรียบเทียบกับเด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง หรือว่าประเทศชาติ บ้านเมืองเรา มีการบังคับใช้กฎหมายหรือการปฏิบัติ 
                   สองมาตรฐานจริง ข่าวการที่ชาวบ้านบุกรุกที่ทำกินหรือแม่ลูกอ่อนขโมยนมเพื่อเลี้ยงลูกต้องถูก จับถูกลงโทษ แต่ในทางกลับกันบุคคลที่มีอำนาจ ร่ำรวยกับไม่ถูกลงโทษ ทั้งๆที่บุคคลที่มีอำนาจบางคนบุกรุกป่า บุกรุกภูเขา โกงกินคอร์รัปชั่นแต่ยังสามารถยิ้มแย้มแจ่มใสและได้รับการเคารพนับถือจากผู้ คนในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น