วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

วิชาชีพการโรงแรมและการท่องเที่ยวกับอาเซียน

วิชาชีพการโรงแรมและการท่องเที่ยวกับอาเซียน
ประเทศไทยมีรายรับจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมสูงเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มอาเซียน   ตามเอกสารรายงานของ World Economic Forum เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกปี 2008-2009 พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการและการทำตลาด อีกทั้งสินค้าท่องเที่ยวของไทยก็มีความโดดเด่นมิใช่น้อย  ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม มาตรฐานในระดับสากลของโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ขณะเดียวกันโรงแรมที่พักของไทยก็มีหลายรูปแบบให้เลือกสรร ภายใต้ระดับราคาที่หลากหลาย อีกทั้งอาหารไทยเองก็มีความโดดเด่นด้านรสชาติและวิธีการปรุง  รวมถึงการบริการของไทยก็เป็นไปด้วยไมตรีจิตที่ดีเยี่ยม  (อ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย )
สำหรับบุคลากรในสาขาการท่องเที่ยวของประเทศไทย ยังมีความอ่อนในด้านทักษะของการใช้ภาษาต่างประเทศ และภาษาของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน
ด้านการฝึกอบรมในวิชาชีพสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ยังไม่ครอบคลุม  จึงทำให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดทำ MOU เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงงานในด้านนี้ให้มากขึ้น โดยมีการกำหนดระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2555-2557) ซึ่งทำให้มีการจัดทำและพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน ไม่ว่าแรงงานเก่าและแรงงานใหม่ ให้มีความสอดคล้องกับตลาดทางด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
กลุ่มอาเซียนกับการลงนามข้อตกลงด้านการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพการโรงแรมและการท่องเที่ยว 32 ตำแหน่งงาน  โดยมีการแบ่งเป็น 2 สาขา คือ 1.สาขาด้านโรงแรม มี 4 แผนก ได้แก่ แผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกอาหาร และอาหารกับเครื่องดื่ม  2.สาขาด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ แผนกนำเที่ยวและแผนกบริหารธุรกิจนำเที่ยว ในสาขาที่พักและการเดินทาง ส่งผลให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินทางไป ทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียน ได้อย่างเสรีดังนั้นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทย ให้มีสมรรถนะและศักยภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล รองรับการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวเสรีอาเซียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วน  ที่เกี่ยวข้องควรมีความร่วมมือ เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยวให้มีสมรรถนะสูงสุดตามที่อาเซียนได้กำหนดไว้ร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ( หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย,ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2555) ตำแหน่งงาน 32 ตำแหน่ง
จากการสำรวจพบว่า โดยภาพรวม แรงงานไทยด้านท่องเที่ยว ใน 32 ตำแหน่งงาน ยังมีการขาดแคลนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ   แรงงานใหม่ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาโรงแรมและการท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัดในการทำงานที่รู้แต่ทฤษฎี ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝนและหาประสบการณ์ในการทำงานไปอีกสักระยะ  อีกทั้งยังปฏิเสธงานในบางตำแหน่งโดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติ เช่น งานแม่บ้าน พนักงานซักรีด ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในส่วนนี้  รัฐบาลจึงต้องพัฒนาแรงงานระดับล่างให้ขึ้นมาทำงานส่วนนี้แทน  รวมถึงความอ่อนทักษะด้านภาษาในการสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ เป็นต้น
1 มกราคม 2558 ท่านพร้อมหรือยังในการเป็นประชาคมและประชาชนชาวอาเซียน ?

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

การสร้างพลังสามัคคี


การสร้างพลังสามัคคี
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                นับตั้งแต่เหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งมาถึงการเหตุการณ์ความขัดแย้งทางด้านการเมือง มีการแบ่งสีแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ตลอดจนถึงฝ่ายการเมือง ข้าราชการ  บางท่านมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ตลอดจนถึงการขาดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ปกครองประเทศ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย
                การสร้างพลังสามัคคีจึงถือว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ที่จะช่วยให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข เกิดความเจริญรุ่งเรือง เพราะหากคนในชาติยังแตกแยกกันอยู่ แล้วเราจะไปเอาพลังจากไหน ไปสร้างชาติ ไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ  บรรพบุรุษของเราได้รักษาชาติ ได้รักษาเอกราช ได้กอบกู้ชาติ เอาไว้ก็ด้วยความสามัคคีไม่ใช่หรือ ในทางตรงกันข้าม กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2112 สมัยพระมหินทราธิราช และเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่ประเทศพม่าในครั้งที่ 2  ก็เพราะสาเหตุอะไร สาเหตุประการหนึ่งก็คือประชาชนชาวไทยในยุคนั้นขาดความสามัคคี เกิดความแตกแยก เกิดความชิงดีชิงเด่นกัน ไม่ใช่หรือ
                สามัคคี จากพจนานุกรม หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน,ความปรองดองกัน  ซึ่งความสามัคคีแยกเป็น 2 ประเภท คือ
                กายสามัคคีหรือสามัคคีทางกาย ได้แก่ การที่บุคคลมาช่วยกันทำงานอย่างพร้อมเพียงกัน เช่นการลงแขกทำนา หรือบุคคลมาช่วยกันทำนาร่วมกัน , การร่วมกันสร้างหอสมุดสาธารณะ , การร่วมกันสร้างโรงเรียน เป็นต้น
                จิตสามัคคีหรือสามัคคีทางใจ ได้แก่ ความพร้อมเพรียงกันด้วยน้ำใจ การไม่ทะเลาะวิวาทกัน การไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน การไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน แต่มีความรักผูกพัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
                 จิตสามัคคีหรือสามัคคีทางใจ จึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ากายสามัคคีหรือสามัคคีทางกาย เพราะ กายสามัคคีหรือสามัคคีทางกาย บางกรณีอาจถูกบังคับให้ทำก็ได้ เช่น การถูกเจ้านายใช้อำนาจบังคับให้ทำงานร่วมกัน หรือการยกของอันหนักโดยถูกการบังคับให้ทำ โดยที่จิตสามัคคีหรือสามัคคีทางใจ ยังไม่เกิดขึ้นร่วมกันก็เป็นไปได้ กรณีที่ถูกบังคับจึงเป็นความสามัคคีในระดับที่ต่ำ เพราะไม่เป็นการทำด้วยใจและเป็นการถูกบังคับให้ทำชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้นจิตสามัคคีหรือสามัคคีทางใจจึงเป็นคุณธรรมที่ลึกซึ้งและส่งผลบวกมากกว่ากายสามัคคีหรือสามัคคีทางกาย
                ส่วน การเล่นการพนัน การร่วมกันปล้น ร่วมกันฆ่า ร่วมกันข่มขืน ไม่จัดว่าเป็นความสามัคคี เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและยังเป็นการผิดกฎหมายอีกด้วย
                สาเหตุของการแตกสามัคคี  คือ
1.การโทษผู้อื่น พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ โทษของคนอื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก”  คนเรา
มักโทษคนอื่นมากกว่าโทษตนเอง ทั้งๆที่บางกรณีเราเองก็เป็นฝ่ายที่ผิด
2.การมองคนอื่นในแง่ร้าย การเป็นคนหูเบา เชื่อคนอื่นๆได้ง่าย เมื่อใครพูดยุก็หูเบาเชื่อ ท่านหลวงพ่อพุทธทาส
จึงได้สอนเป็นบทกลอน บทประพันธ์ไว้ว่า
                                เขามีส่วน                                                เลวบ้าง                   ช่างหัวเขา
                                จงเลือกเอา                             ส่วนที่ดี                  เขามีอยู่
                                เป็นประโยชน์                       โลกบ้าง                  ยังน่าดู
                                ส่วนที่ชั่ว                                                อย่าไปรู้                  ของเขาเลย
                                จะหาคน                                 มีดี                           โดยส่วนเดียว
                                อย่ามัวเที่ยว                            ค้นหา                      สหายเอ๋ย
                                เหมือนเที่ยวหา                      หนวดเต่า                                ตายเปล่าเลย
                                ฝึกให้เคย                                                มองแต่ดี                 มีคุณจริง”
                3.การพูดเสียดสีกระทบกระทั่งเป็นเหตุทำลายความสามัคคี ปากหรือคำพูดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ในหมู่คณะ เพราะคำพูดสามารถสร้างมิตรหรือก่อศัตรูได้ในเวลาเดียวกัน จึงมีคำสอนของคนโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังคำพูด”
                4.ความโกรธ เป็นอารมณ์ที่หากผู้ใดควบคุมไม่ได้ ก็จะโดนอารมณ์โกรธควบคุมตัวท่าน หลวงพ่อชาเคยกล่าวไว้ว่า “ เวลาโกรธขึ้นมา จบด็อกเตอร์กับจบประถม 4 ก็โง่พอๆกัน” ดังนั้น เหตุที่เกิดการทะเลาะกัน การตีกัน การฆ่าฟันกัน ก็มาจากสาเหตุหนึ่งก็คือความโกรธนั่นเอง
                ดังนั้นการสร้างความสามัคคีขึ้นมาในชาติจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกระผมเชื่อว่า บ้านที่มีรอยแตกร้าวอยู่ไม่สามารถอยู่มั่นคงถาวรฉันใด  ประเทศชาติที่ขาดความสามัคคีก็ไม่สามารถอยู่อย่างมั่นคงถาวรฉันนั้น