วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

ยกระดับบริการและความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ

ยกระดับบริการและความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
                เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2553 กระผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อยกระดับบริการและ ความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ณ ห้องประชุมเวียงพนา โรงแรมลำปางเวียงทอง อ.เมือง จ.ลำปาง จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ(สสส.) โดยจัดทั้งหมด 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางและตะวันออก   ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้
                สำหรับเวทีที่กระผมเข้าร่วมเป็นเวทีที่จัดในส่วนของภาคเหนือ มีผู้เข้าร่วมเป็นนักวิชาการ หน่วยงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชน เครือข่ายผู้บริโภคและประชาชนใน 8 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ
                ในวันแรก ได้มีภาคบรรยายและการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ในเรื่อง “ สถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและเกร็ดความรู้ของกระบวนการสืบ สวนสอบสวนอุบัติเหตุที่ควรรู้”  โดย ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี และ การนำเสนอข้อมูลโครงสร้างรูปแบบการประกอบการโดยสารสาธารณะของประเทศไทย โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล สำหรับวันที่สอง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องบริการและสถาการณ์ความไม่ปลอดภัยของรถโดยสาร สาธารณะ โดยนายอิฐบุรณ์ อ้นวงษา และ นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลี่ยว
                จากเวทีดังกล่าวทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับข้อมูลต่างๆ มากขึ้นอีกทั้งผู้เข้าร่วมได้เสนอความคิดเห็นเพื่อเติมเต็มในเรื่องดังกล่าว ข้างต้น
                สำหรับความคิดเห็นของกระผมคิดว่าเรื่องของการบริการและความปลอดภัยรถโดยสาร สาธารณะถ้าเทียบจากอดีตกระผมคิดว่ามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และถ้าเทียบกับหลายประเทศในประเทศเพื่อนบ้านเราดีกว่าหลายประเทศ แต่ถ้าหากเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ยังอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ ประเทศไทยของเราก็คงเทียบในเรื่องการบริการและความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ นั้นคงยาก
                ด้านอุบัติเหตุที่ปรากฏเป็นข่าว เมื่อเดือนมีนาคม 52 – กรกฏาคม 53 (1 ปี 4 เดือน) ในรถประเภทต่างๆ อุบัติเหตุจำนวน 260 ครั้ง จำนวนผู้ประสบภัย 2,139 คน บาดเจ็บ 1,988 คน เสียชีวิต 151 คน กระผมคิดว่าเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งอุบัติเหตุดังกล่าวมีปัจจัยมาจาก คนขับรถโดยสาร สภาพรถโดยสารที่ไม่มั่นคงปลอดภัย(ล้อรถไม่มีดอกยาง รถมีการดัดแปลง มีความไม่แข็งแรง) สภาพถนนต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ
                ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจเนื่องจากการสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้ เกิดการเสียค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ , ภาระค่ารักษาที่มากกว่าเงินประกันภัยที่ได้รับ , การเสียโอกาสในการเดินทางและการทำงานในอนาคต และ สภาพจิตใจที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟู
                สำหรับเรื่องของสภาพรถโดยสาร บางคัน ผมเคยเห็นบางคัน ไม่น่าจะมาเป็นรถโดยสารได้ เนื่องจากสภาพรถที่ไม่มั่นคงปลอดภัย แต่ก็มีรถหลายคันยังสามารถขับขี่บนท้องถนนได้ ถึงแม้จะมีการตรวจสภาพจากหน่วยงานที่รับผิดชอบมาแล้วก็ตาม กระผมก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด
                ด้านสถานีขนส่งหลายจังหวัดมีสภาพคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ สภาพห้องน้ำที่มีกลิ่นเหม็น แถมบางแห่งยังมีการเก็บค่าเข้าห้องน้ำอีกต่างหาก  สภาพถนนที่มีสภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน  ฯลฯ
                ส่วนบริษัทประกันภัย ก็ได้เสนอจ่ายเงินค่าชดเชยหรือผลของการเยียวยา จำนวนน้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริงในการเกิดอุบัติเหตุ จนต้องมีการฟ้องร้องและไกล่เกลี่ยเจรจากัน หลังฟ้อง เช่น กรณีนางสาวคนหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บใบหน้าฟกช้ำ เลือดคั่งในสมอง บริษัทประกันภัยได้เสนอจ่าย 4,700 บาท ตกลงกันไม่ได้กับผู้เสียหาย จึงฟ้องร้องในขั้นเจรจาไกล่เกลี่ยหลังฟ้องเป็นคดีได้รับเงิน 50,000 บาท
                สุดท้ายนี้ กระผมขอฝากท่านผู้อ่านในเรื่อง สิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 10 ประการ ตามสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้
1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถ โดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ถูกต้องเป็นจริงครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ
2.ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ
3.ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
4.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในทุกๆ ด้านจากการใช้บริการรถโดยสาร
5.สิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
6.สิทธิในการร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
7.สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ
8.สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินและสิทธิอื่นๆ ที่ถูกละเมิด
9.สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
10.สิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและของผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น