วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การสร้างนโยบายสาธารณะ

การสร้างนโยบายสาธารณะ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                ในช่วงที่ผ่านมากระผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรให้แก่ สำนักพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า อยู่หลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ รากฐานประชาธิปไตย การสร้างสำนึกพลเมือง การสร้างนโยบายสาธารณะ ฯลฯ และล่าสุดเมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2554 ผมได้มีโอกาสบรรยายหัวข้อ การสร้างนโยบายสาธารณะและให้ผู้อบรมฝึกปฏิบัติ การสร้างนโยบายสาธารณะ เพื่อเป็นการขยายความรู้ กระผมขอเขียนบทความเพื่อความประโยชน์สำหรับผู้อ่าน ในเวทีมีผู้เข้ารับการอบรม ถามผมว่า นโยบายสาธารณะ คืออะไร มีนักวิชาการหลายท่านเคยได้ให้คำจำกัดความว่า
Dye, Thomas R. :  สิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำ หรือไม่กระทำ (Whatever governments chose to do or not do)
James  E.  Anderson : ข้อเสนอ หรือแนวทางปฏิบัติ (ของรัฐบาล) ที่กำหนดวัตถุประสงค์แน่นอนเพื่อให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลจัดการกับปัญหาหรือเรื่องที่อยู่ในความสนใจ
Stuart  S. Nagel. : การตัดสินใจของรัฐบาลเพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ของสังคม เช่น ปัญหานโยบายต่างประเทศ  ปัญหาการป้องกันสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาคนว่างงาน เป็นต้น
Easton, David.  : นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของการจัดสรรคุณค่า และผลประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ หรือ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับสังคมส่วนรวม(Authoritative allocation of values)
เมื่อพูดถึงเรื่องการสร้างนโยบายสาธารณะ มักมีขั้นตอนต่างๆ เช่น 1.การรวบรวมปัญหา 2.การเลือกปัญหา 3.การเก็บรวบรวมข้อมูล 4.การจัดแฟ้มนโยบาย 5.การนำเสนอนโยบายต่อผู้รับผิดชอบ
1.การรวบรวมปัญหาต่างๆ คนในชุมชนมีส่วนรวบรวมปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะแก้ปัญหา
การสร้างนโยบายที่ดี เราควร นำเสนอนโยบายที่มีปัญหามากที่สุดในประเด็นที่สำคัญที่เกิดในชุมชนเรา ดังนั้น ชุมชนที่สร้างนโยบายสาธารณะควรมีการจัดประชุมหรือเวที เพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆในชุมชน
2.การเลือกปัญหา เมื่อได้รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญหาแล้ว เราควรให้ทุกคนในชุมชนเลือก
ประเด็นของปัญหาที่มีความสำคัญมากที่สุดมาเพียง 1 ประเด็น โดยใช้หลัก ฉันทามติ
3.การเก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อได้ประเด็นของปัญหาแล้ว คนในชุมชนต้องรวบรวมข้อมูล โดย
ระบุ แหล่งที่มาของปัญหาว่า   ประเด็นที่เลือกปัญหานั้น มีต้นเหตุมาจากอะไร
4.การจัดแฟ้มนโยบาย ควรอธิบายปัญหา การตรวจสอบนโยบายทางเลือก การนำเสนอนโยบาย
สาธารณะ แผนงาน 
4.1.สำหรับการอธิบายปัญหา ควรเขียนเป็นประเด็นดังนี้ ทำไมรัฐบาลจึงควรมาดูแลปัญหานี้ , ปัญหานี้มีความร้ายแรงกับชุมชนอย่างไร , ปัญหาที่มีอยู่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้หรือไม่ เพราะอะไร ,  มีบุคคล มีกลุ่ม มีองค์กร อะไรบ้างที่สนใจปัญหาเหล่านี้ ฯลฯ
                4.2.สำหรับการตรวจสอบนโยบายทางเลือก ควรวิเคราะห์ว่านโยบายใดในปัจจุบันที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เสนอนโยบายทางเลือก วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย มีกลุ่มหรือบุคคลใดที่จะสนับสนุนหรือต่อต้านนโยบายดังกล่าว
                4.3.สำหรับการนำเสนอนโยบายสาธารณะ วิเคราะห์แนวทางในการแก้ไขปัญหาว่าจะใช้นโยบายหรือแนวทางใดดีที่สุด นโยบายที่นำเสนอตรงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใด เพราะเหตุใด
                4.4.สำหรับแผนงาน กิจกรรมของแผนหลักมีอะไร มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐใดที่สนับสนุน นโยบายของเรา
5.การนำเสนอนโยบายต่อผู้รับผิดชอบ เมื่อจัดทำนโยบายเสร็จแล้ว การนำเสนอนโยบายเราควรนำเสนอต่อหน่วยงานใด เช่น เสนอกระทรวงมหาดไทย เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เสนอสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ฯลฯ
เมื่อเสนอแล้วหาก หน่วยงานนั้นนำไปปฏิบัติ หรือ ประยุกต์ใช้ เมื่อปฏิบัติได้สักระยะหนึ่ง เราควรจัดเวที เพื่อ สะท้อนปัญหา แลกเปลี่ยนปัญหา เพื่อนำนโยบายนั้นมาพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นหรือเหมาะสมขึ้น
แต่หากนำเสนอแล้ว หน่วยงานนั้นไม่นำไปปฏิบัติ เราอาจจะต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดนโยบายตามที่ชุมชนต้องการ
ฉะนั้น คนในชุมชนแต่ละแห่ง สามารถสร้างนโยบายสาธารณะได้ หากชุมชนมีปัญหา เราสามารถนำเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อที่จะหาทางแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งปัญหาแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น นโยบายสาธารณะของชุมชนแต่ละแห่งก็มักจะไม่เหมือนกัน