วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

ธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาล
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com
              คำว่าธรรมภิบาลมีความสำคัญมากๆ สำหรับองค์กร หน่วยงาน หรือ ประเทศ เพราะหน่วยงานไหนไม่มีธรรมาภิบาล องค์กรนั้น หน่วยงานนั้น หรือ ประเทศนั้น มักจะขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกกัน จนทำให้เกิดการแตกแยก ไม่มีความสามัคคีกัน ในวันนี้เราจะว่าพูดกันในหัวข้อนี้ หลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือธรรมาภิบาล ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
            1. หลักนิติธรรม (The Rule of Law) หลักนิติธรรม หมายถึง หลักของกฎหมาย องค์กรใดมีหลักนิติธรรมจะต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ปกครองแบบตามอำเภอใจ หรืออำนาจของตัวบุคคล จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความยุติธรรม ในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก อีกทั้งต้องมีความรัดกุมและรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
             2. หลักคุณธรรม (Morality) ไม่ใช่(หลักคุณนะทำ) หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม อีกทั้งต้องส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้บุคลากรมีความซื่อสัตย์ สุจริตในหน้าที่การงาน มีความจริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย เป็นนิสัยประจำองค์กร ประจำหน่วยงาน และประจำชาติ
            3. หลักความโปร่งใส (Accountability) หลักความโปร่งใส มีความหมายไปในทางตรงข้ามกับคำว่าการทุจริต คอร์รัปชั่น โดยที่เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น มีความหมายในเชิงลบ และมีความน่ากลัวแฝงอยู่ ความโปร่งใสกับมีความหมายในทางบวก หากองค์กรใดไม่มีความโปร่งใส มีผลประโยชน์แอบแฝงก็จะทำให้ภาพพจน์หรือภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นเสียหายได้ ซึ่งเมืองไทยมีความน่าห่วงมากเนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ไม่มีความโปร่งใส เนื่องจากผู้มีอำนาจ ได้รับผลประโยชน์และรู้จักประสานประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งผู้น้อยก็ไม่กล้าที่จะร้องเรียนหรือตรวจสอบ เพราะกลัวอิทธิพล
            4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักการมีส่วนร่วม คือการเปิดโอกาสให้คนในหน่วยงานมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการ หรือร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ต่างๆ ได้ รวมทั้งมีส่วนวางแผน นโยบาย สามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆได้ โดยที่ผู้ใหญ่ในองค์กรต้องยอมรับฟังบ้าง
           5. หลักความคุ้มค่า (Cost – effectiveness or Economy) หลักความคุ้มค่า หมายถึง การจัดการ การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด ให้ก่อประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร หน่วยงาน คุ้มค่า ประหยัด ทั้งค่าใช้จ่าย เวลา อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ความจริงเรื่องของธรรมาภิบาลพูดกันมามาก พูดกันมานาน แต่กระผมยังเห็นว่าประเทศของเราส่วนใหญ่ได้แต่พูดแต่ไม่มีการลงมือปฏิบัติ อย่างจริงจัง
            จึงทำให้เกิดการทุจริต โกงกิน ขึ้นในหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่องค์กรระดับใหญ่ของประเทศก็มีการโกงกินกัน ดังจะเห็นได้จากข่าวว่า กระทรวงนั้นมีปัญหาเรื่องการทุจริต กระทรวงนี้มีปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่งกัน
            ดังนั้นกระผมมีความเชื่อว่า หากเรานำหลักการธรรมาภิบาล มาใช้อย่างจริงจังจะทำให้องค์กร หน่วยงาน และประเทศชาติ เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว คนในองค์กรมีกำลังใจทำงานมากขึ้น อีกทั้งองค์กรนั้นๆ จะมีภาพลักษณ์ที่ดี จะทำอะไรก็จะได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น